Last updated: 8 พ.ค. 2568 | 285 จำนวนผู้เข้าชม |
กมธ.การศึกษาฯ วุฒิสภา เยือนฟินแลนด์ จับมือบริหารจัดการด้านการศึกษา ชี้ฟินแลนด์มีจุดแข็งประสบความสำเร็จด้านระบบการศึกษาที่ยอมทั่วโลกยอมรับ
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.เวลา 08.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศฟินแลนด์ คณะกรรมาธิการ( กมธ.) การศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา นำโดย ดร.กมล รอดคล้าย ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ เดินทางเข้าร่วม การประชุมทวิภาคีกับคณะกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม ณ รัฐสภาฟินแลนด์ โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก Mr. Mikko Ollikainen, Ms. Maaret Castrén, Ms. Inka Hopsu และ Ms. Nasima Razmyar กรรมาธิการรัฐสภาฟินแลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษา และแนวทางในการยกระดับระบบการศึกษาในอนาคต
ต่อมาในเวลา 10.00 น.คณะกรรมาธิการฯ ได้เข้าร่วม การประชุมทวิภาคีกับคณะผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม โดยได้รับการต้อนรับจาก Ms. Mikaela Nylander เลขาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม พร้อมด้วย Mr. Jouni Kangasniemi, Mr. Petri Haltia และ Ms. Venla Bernelius ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญอาวุโส เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานด้านการศึกษาของฟินแลนด์ ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในระดับสากล
ต่อมาเวลา 13.30 น.คณะกรรมาธิการได้เดินทางไปยัง วิทยาลัยอาชีวศึกษาออมเนีย (Omnia Vocational College) เพื่อเข้าร่วมการประชุมและศึกษาดูงานเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษา โดยมี Ms. Päivi Korhonen ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์, Mr. Tuukka Soini ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา, Ms. Heidi Lempinen หัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ และ Mr. Matthew Harris ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมดิจิทัล ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นความยืดหยุ่น การพัฒนาทักษะอาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของระบบการศึกษาในฟินแลนด์
ทั้งนี้การเดินทางเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการศึกษา อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนานโยบายและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก.