Last updated: 13 พ.ค. 2567 | 274 จำนวนผู้เข้าชม |
"สพป.ราชบุรี เขต 1" นำร่องจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 แบบ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พ.ค.ที่ห้องประชุมปักษาสวรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ดร.บรรเจิด อุ่นมณีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1(สพป.ราชบุรี เขต1) ดร.สิทธิพล พหลทัพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธมศึกษาราชบุรี (สพม.ราชบุรี) ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประยูร สุธาบูรณ์ ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล คุณผลิพร ธัญญอนันต์ผล ผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะครูจากโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 และโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี ร่วมประชุมวิพากษ์ร่างคู่มือเพื่อขับเคลื่อนพัฒนา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ไร้รอยต่อ ภายใต้โครงการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา และเด็กตกหล่นให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
ดร.บรรเจิด กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทยยังขาดโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา สะท้อนได้จากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในระดับสูง เด็กได้เข้าเรียนไม่ครบทุกคน มีปัญหาการออกกลางคัน ผู้เรียนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ความแตกต่างในเชิงคุณภาพของโรงเรียนในแต่ละบริบทพื้นที่ รวมถึงสภาพแวดล้อมและสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษายิ่งท้าให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายตั้งเป้าหมาย Thailand Zero Dropout เด็กและเยาวชนทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา “ รัฐบาลมุ่งมั่นให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา ตั้งเป้าหมาย Zero Dropout แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาการเรียนที่ยืดหยุ่นให้ตรงความต้องการ เน้นทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต ใครที่หลุดจากระบบจะให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา” ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ผอ.สพป.เขต1ราชบุรี กล่าวต่อว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยวิธีการ การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ หมายถึง การจัดการการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและ ผสมผสานทั้งการศึกษา ในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ห้องเรียนสร้างโอกาสสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หมายถึงห้องเรียนที่สถานศึกษามุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น บูรณาการ ไร้รอยต่อและสอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและสภาพปัญหาของผู้เรียนแต่ละบุคคลตามศักยภาพ โดยนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาและโรงเรียนได้ติดตามให้กลับมาเรียน หรือนักเรียนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการออกกลางคันสูง ตามสภาพปัญหาและสาเหตุต่างๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าเรียนในห้องเรียนสร้างโอกาส และเด็กกลุ่มตกหล่น ซึ่งการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นคือ การศึกษาที่มีรูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา โครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาวิธีการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของ บุคคลแต่ละกลุ่มและมีอิสระสามารถเลือกเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ตามความ สนใจ ความพร้อม ศักยภาพ และ โอกาส ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาที่ไร้รอยต่อ ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษา นอกระบบและการศึกษา และตามอัธยาศัย
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วงจรอันตราย 3 เรื่อง เป็นแรงงานรายได้ต่ำมีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต และสุขภาพ การค้าประเวณีโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และยุวอาชญากรที่ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด และลักขโมย เพราะฉะนั้นหลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กปฐมวัย วัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย มีโอกาสในการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้แต่ละบุคคลได้พัฒนาตามความพร้อม และความสามารถให้บรรลุขีดสูงสุด มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในการดำรงชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม รวมทั้งมีสมรรถนะในการทำงาน เพื่อการประกอบอาชีพตามความถนัด และความสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันจะนำไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
ทั้งนี้แผนการศึกษาแห่งชาติจึงต้องกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาที่ครอบคลุม โดยไม่ปล่อยปละละเลยหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) และหลักการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) เป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนกลุ่มปกติ กลุ่มด้อยโอกาสที่มีความยากลำบากและขาดโอกาส เนื่องด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและภูมิสังคม ซึ่งรัฐต้องดูแลจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา สนับสนุนผู้เรียนกลุ่มนี้ ให้ได้รับการศึกษาตามศักยภาพและความพร้อมอย่างเท่าเทียม กลุ่มที่มีความ ต้องการเป็นพิเศษ ซึ่งหมายรวมกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม อารมณ์ การ สื่อสารและการเรียนรู้หรือร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ รวมทั้งบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มี ผู้ดูแล รัฐต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาร่วมกับเด็กปกติในกรณีที่สามารถเรียนได้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความคิด และปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นในสังคม หรือจัดให้เป็นพิเศษตามระดับความบกพร่อง
นอกจากนี้บุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษรัฐต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น ด้วยเหตุผลสำคัญคือบุคคลที่มีความสามารถพิเศษเป็น ทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากจัดการศึกษารูปแบบปกติอาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคคลดังกล่าวให้มีความรู้ความสามารถตามศักยภาพของเขาได้ รัฐจึงมีหน้าที่ลงทุนพิเศษสำหรับบุคคลเหล่านี้ และถือเป็นสิทธิ ของบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษที่จะได้รับบริการทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาศักยภาพของตน แผนการศึกษาแห่งชาติจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมการดูแลและพัฒนา บุคคลทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...รังสี ลิมปิโชติกุล-ราชบุรี.