Last updated: 17 ก.ค. 2568 | 26 จำนวนผู้เข้าชม |
กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา ลุยจับมือ 8 หน่วยงาน คุมเข้มโฆษณาคลินิคเสริมความงาม ยกเครื่องงานคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มช่องทางร้องเรียนไม่ถูกหลอกลวง
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ห้องแถลงข่าวสื่อมวลชน ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่ง สส.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดยนายโสภณ มะโนมะยา รองประธานคณะกรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมกับผู้แทน 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา แถลงข่าวการจัดทำ MOU “ความร่วมมือการส่งเสริมการกำกับดูแล ควบคุมและตรวจสอบการโฆษณาเกี่ยวกับการเสริมสวยหรือเสริมความงามของสถานพยาบาล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”
นายโสภณ มะโนมะยา รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับการทำงานแบบบูรณาการในการกำกับดูแลการโฆษณาสถานเสริมความงาม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและสิทธิของผู้บริโภคโดยเฉพาะในยุคที่สื่อออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว การแสดงเจตจำนงร่วมกันครั้งนี้จะนำไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ เช่น การจัดตั้งกลไกความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตรวจสอบการโฆษณาที่อาจเข้าข่ายหลอกลวงหรือผิดกฎหมาย การพัฒนาแนวทางกำกับดูแลร่วมกันระหว่างหน่วยงานกลางและท้องถิ่น โดยเฉพาะการควบคุมป้ายโฆษณาในพื้นที่จริง ควบคู่กับการสอดส่องสื่อออนไลน์
การผลักดันแนวทางหรือข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล เพื่อพัฒนากฎหมายหรือกลไกใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน และการส่งเสริมจริยธรรมและการกำกับตนเองของผู้ประกอบการ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและตัดสินใจอย่างมีข้อมูล
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทั้งในระดับกฎหมายและกลไกปฏิบัติ โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ” ที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และทันยุคสมัยต่อไป
ขณะที่ผู้แทนหน่วยงาน ได้แถลงมุมมองและบทบาทหน่วยงานเพื่อสะท้อนความพร้อมและแสดงเจตจำนงร่วมกันในการคุ้มครองสุขภาพและสิทธิของผู้บริโภค โดยจะสนับสนุนการทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เป็นธรรม ปลอดภัยตามมาตรฐานทางการแพทย์ พร้อมเพิ่มช่องทางร้องเรียนและพัฒนาระบบแจ้งเบาะแสเพื่อให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงจากการโฆษณาเกินจริงที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง และเพื่อยกระดับคุณภาพความปลอดภัยของบริการทางการแพทย์ในประเทศ.