Last updated: 16 พ.ค. 2568 | 226 จำนวนผู้เข้าชม |
“ทวี”เปิดเวทีประชาพิจารณ์ ร่าง ก.ม.ล้มละลาย แก้หนี้คนไทยทั้งระบบ คืนความเป็นธรรม-ไม่ทิ้งใครข้างหลัง
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับ ผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จัดโดย คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาควิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปกฎหมายด้านล้มละลายของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแท้จริง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงและมีความซับซ้อน ตัวเลขล่าสุดสะท้อนว่าหนี้ของภาคประชาชนรวมแล้วเกือบ 20 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่า GDP ของประเทศ ปัญหานี้ไม่ได้สะท้อนเพียงภาระทางเศรษฐกิจ แต่ยังเกี่ยวพันถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ความมั่นคงของครอบครัว และศักยภาพในการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม
“การแก้ไขสถานการณ์นี้จำเป็นต้องมีกฎหมายที่เท่าทันความเป็นจริง ยืดหยุ่น และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบุคคลธรรมดาที่สุจริต ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงได้ปรับปรุงกลไกการฟื้นฟูกิจการให้ครอบคลุมทุกระดับ โดยมีการแก้ไขสาระสำคัญหลายประการ เช่น (1) การปรับเกณฑ์มูลค่าหนี้ขั้นต่ำให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ (2) การจัดทำหมวดใหม่สำหรับ SME ที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ขึ้นทะเบียน (3) การจัดทำหมวดสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้ตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไปเพื่อให้สามารถฟื้นตัวโดยไม่ต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลาย นอกจากนี้ยังมีการนำกลไก Automatic Stay หรือการพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติ มาใช้ทันทีที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟู เพื่อหยุดกระบวนการบังคับคดี และให้ลูกหนี้มีโอกาสหาทางออกอย่างเป็นธรรม โดยไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเกินควรจากเจ้าหนี้หรือกระบวนการยึดทรัพย์” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของร่างฯ นี้คือ การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องจัดประชุมเต็มรูปแบบ หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ได้ ก็สามารถเดินหน้าจัดทำแผนฟื้นฟูได้ทันที ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน และลดความล่าช้าทางกระบวนการ ที่สำคัญ ร่างฯ นี้ยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกัน ไม่ให้ต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม แต่ให้รับผิดเฉพาะตามแผนฟื้นฟูเท่านั้น อันเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจลุกลามไปถึงครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งกฎหมายที่ดี ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นเครื่องมือที่ยุติธรรม เข้าถึงง่าย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.
20 พ.ค. 2568