"กมธ. เทคโนโลยีฯ วุฒิสภา"จี้รัฐบาล เร่งเยียวยาเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์

Last updated: 7 พ.ค. 2568  |  148 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"กมธ. เทคโนโลยีฯ วุฒิสภา"จี้รัฐบาล เร่งเยียวยาเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์

กมธ. เทคโนโลยีฯ วุฒิสภาจี้รัฐบาลเร่งเยียวยาเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ชงข้อเสนอหน่วยงานรับลูกดำเนินการสร้างความอุ่นใจปชช.

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ห้องแถลงข่าวสื่อมวลชน ชั้น 1 (ฝั่ง ส.ส.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.)การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา นำโดยนายสุทนต์ กล้าการขาย รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการการฯ ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง แนวทางการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์ผ่านโชเชียลมีเดีย และบริการโทรคมนาคม และการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอถึงรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์



รวมทั้งเร่งรัดออกกฎกระทรวงเพื่อการบังคับใช้ในการกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า ตัดตอนการโอนเงิน และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย เว็บพนันออนไลน์ และตัดสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการลงทะเบียน Caller ID การตรวจสอบ SMS แนบลิงก์ URL มาตรการ Mobile Banking รวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย

นอกจากนี้ในงานสัมมนายังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเกี่ยวกับภัยคุกคามผ่านโซเชียลมีเดียและบริการโทรคมนาคม และการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยต้องไม่ปล่อยเหยื่อไว้ลำพัง ปกป้องประชาชนร่วมกันผลักดันมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และดำเนินการตามข้อเสนอแนะโดยเร็วที่สุด เพื่อปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของประชาชนในยุคดิจิทัลการสื่อสารไร้พรมแดน.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้