8เครือข่ายขบวนคนจนเมืองบุกทำเนียบ ยื่น6ข้อเรียกร้องสางปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัด

Last updated: 24 ก.ย. 2567  |  655 จำนวนผู้เข้าชม  | 

8เครือข่ายขบวนคนจนเมืองบุกทำเนียบ ยื่น6ข้อเรียกร้องสางปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัด

8 เครือข่ายขบวนคนจนเมือง เคลื่อนขบวนใหญ่บุกทำเนียบยื่น 6 ข้อเรียกร้อง จี้ “รมว.คมนาคม”เจ้าภาพสางปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. ระบุ 7 ตุลาคมลุยทวงคำตอบอีกรอบ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เครือข่ายชุมชนริมรางเมืองย่าโม เครือข่ายที่อยู่อาศัยคลองเตย เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองและชนบท เครือข่ายชุมชนริมราง เครือข่ายคนแป๋งเมือง เชียงใหม่ เครือข่ายคนไร้บ้าน 7 จังหวัด ร่วมกันเดินขบวนและจัดงานมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก 2567 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มารับจดหมาย ของขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนรัฐบาลมาชี้แจงแถลงต่อประชาชนในวันจันทร์ที่ 7 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่อยู่อาศัยโลกตามที่องค์การสหประชาชาติหรือ UN ได้ประกาศไว้ หลังจากนั้นได้กระจายกำลังไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งที่กระทรวงมหาดไทย โดยขบวนคนจนเมืองฯ จะมาติดตามหลังจากยื่นหนังสือวันนี้อีกครั้งในวันที่ 30 ก.ย. 67 รวมทั้ง ที่กระทรวงคนาคม ขบวนคนจนเมืองฯ และพี่น้องเครือข่ายกว่า 2,000 คนจะมาติดตามหลังจากยื่นหนังสือวันนี้อีกครั้งในวันที่ 7 ต.ค. 



ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยสากล (World Habitat Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2567 ประกอบกับที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. มีการอนุญาตให้ชุมชนได้เช่าที่ดินของ รฟท. เพื่อที่อยู่อาศัย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำที่ดินมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของรฟท. ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (คกร.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มีชุมชนนำร่องจำนวน 61 ชุมชน



ต่อมาได้มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติในการเช่าที่ดิน รฟท. เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน ทั่วประเทศ และในเมืองใหญ่ อาทิ ชุมชนแออัดที่อยู่ในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินได้เช่าที่ดินที่ริมบึงมักกะสันเป็นที่รองรับให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ กว่า 169 ครัวเรือน ในเฟสที่ 1 และเนื่องในโอกาสวันที่อยู่อาศัยสากล ที่จะถึงในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย ขบวนองค์กรชุมชนริมรางทั่วประเทศ ประมาณ 2,000 คน จะมายื่นข้อเสนอเพื่อให้การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดิน รฟท. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ “คนแบกเมือง” และชุมชนคนริมราง


ดังนั้นชุมชนจึงมีข้อเสนอเพื่อยื่นต่อหน่วยงาน ให้พิจารณาแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน การมอบสัญญาเช่าสำหรับชุมชนที่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจพื้นที่ร่วมกับการรถไฟฯ แล้ว พร้อมทำสัญญาเช่า แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา จึงขอให้กรุณาเร่งรัดให้ได้ทำสัญญาเช่าในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 นี้เพื่อเป็นผลงานของ รมว.คมนาคมและ การรถไฟฯ จำนวน 13 ชุมชน



2.ให้รัฐมนตรีคมนาคมเป็นประธาน การมอบสัญญาเช่าสำหรับชุมชนได้สัญญาเช่าเรียบร้อยแล้ว
(และมีอีกหลายชุมชนที่อยู่ระหว่างการให้สัญญาเช่าของการรถไฟฯ ได้มีหน่วยงานภายในของ รฟท. ตรวจสอบที่ดินร่วมทำ (ทด.3) ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะทำสัญญาเช่าเรียบร้อยแล้ว แต่ติดอยู่ขั้นตอนรอความเห็นจากฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง มาหลายเดือน จึงโปรดให้ รมว. กรุณาเร่งรัดดำเนินการให้ 3. ขอให้รมว.คมนาคม มอบนโยบายให้กระบวนการการเช่าที่ดินของ รฟท. สำหรับ 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ รฟท. กลับมาอยู่ในหน่วยงานของ รฟท. ตามเช่นเดิม เนื่องจากการเช่า ที่ดินของชุมชน เป็นการเช่าเพื่อที่แก้ปัญหาอยู่อาศัยไม่ใช่เพื่อการพานิชย์ อีกทั้งเพื่อไม่ต้องให้บริษัทเอสซีเอสเซท ที่มีบุคลากรจำกัด และยังไม่มีปะสบการณ์ในการเช่าที่ดินลักษณะดังกล่าวต้องมารับภาระงานชุมชน



4.ขอให้รมว.คมนาคมเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาแก้ไขสัญญาเช่าที่ไม่เป็นธรรมแก่ชุมชน ระหว่าง การรถไฟฯ และชุมชน เนื่องจากสัญญาเช่าที่เซ็นในปี 2567 มีการเพิ่มเงื่อนไขให้ รฟท. สามารถยกเลิกสัญญาเช่า หากต้องการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นการหักล้างเจตนารมณ์ของการให้ชุมชนได้เข่าที่ดิน 30 ปี เพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัยเพราะหาก รฟท. สามารถตัดสินใจยกเลิกสัญญาเช่าได้ ย่อมทำให้สัญญาที่ระบุระยะเวลา 30 ปี หมดความหมายเพราะสัญญาถูกยกเลิกได้ง่าย



5. ขอให้รมว.คมนาคมเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาที่ไม่มีข้อยุติ สำหรับชุมชนที่คงค้างค่าเช่าเดิมเพื่อการแก้ไขปัญหา อาทิ การจัดตัดคืนพื้นที่เช่าและคิดอัตราค่าเช่าใหม่ การติดตามต่อสัญญาเช่าให้เป้นปัจจุบัน สำหรับชุมชนที่หมดอายุสัญญาเช่า เพื่อดำเนินการขอระบบ
6.ขอให้รมว.คมนาคมแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา คณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหา 2 ระดับ คือ (1) ระดับกระทรวง โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะกรรมการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เป็นรองประธาน คณะกรรมการ (2) ระดับหน่วยงาน โดยมีผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งคระกรรมการทั้ง 2 ระดับ ให้มีองค์ประกอบของภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้