Last updated: 2 ก.พ. 2567 | 502 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้เข้าแข่งขันว่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศมาเลเซียต่างนำว่าวสวยงาม และว่าวขึ้นสูงมาร่วมงานแข่งขันว่าวไทย"คนรักษ์ถิ่น"ใต้สุดแดนสยามเป็นจำนวนมาก
วันที่ 2 ก.พ.ที่สนามบินจันทรัตน์ (สนามบินเก่า) ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา นายสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ท้องถิ่นจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดการจัดงานแข่งขัน"ว่าวไทย"คนรักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-6 ก.พ.นี้ โดยมี ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ เหมกุสุมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยะรม หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ อ.เบตง อ.ฮูลูเปรัค ประเทศมาเลเซีย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลยะรม,กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน และผู้เข้าแข่งขันว่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศมาเลเซียเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ร.ต.อ.สิทธิพงศ์ กล่าวว่า ว่าวเป็นการละเล่น และเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ คนไทยรู้จักการเล่นว่าวมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ปีพุทธศักราช 2449 ได้มีการจัดการแข่งขันว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าชิงถ้วยทองคำพระราชทานที่พระราชวังสวนดุสิต โดยการแข่งขันนี้มีเป็นประจำทุกปี ตามปกติฤดูกาลเล่นว่าวของคนไทยมักจะมีขึ้นระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย.เพราะจะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เรียกว่าลมตะเภาหรือลมว่าวพัดมาจากอ่าวไทย โดยการเล่นต้องหาช่วงเวลาที่มีอากาศดี ลมพัดอย่างสม่ำเสมอไม่แรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้ว่าวเสียการทรงตัวและขาดได้ จึงถือว่าการละเล่นว่าวเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
องค์การบริหารส่วนตำบลยะรม ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีการเล่นว่าว และวัฒนธรรมอันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้จัดงานแข่งขันว่าวไทย"คนรักษ์ถิ่น" ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ ฟื้นฟูอนุรักษ์ และรักษาไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่กับชุมชน ต.ยะรมสืบไป เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และห่างไกลจากสิ่งอบายมุขและสิ่งเสพติด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและนันทนาการ และส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นสร้างรายได้ให้กับชุมชนใน ต.ยะรม
สำหรับการจัดงานแข่งขันว่าวไทยในครั้งนี้ มีผู้เข้าแข่งขันว่าวจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ว่าวขึ้นสูง มีผู้เข้าร่วม จำนวน 240 คน และว่าวสวยงาม จำนวน 12 คน มีทั้งว่าววงเดือน ว่าวบูลัน ว่าวควาย ว่าวจุฬา ว่าวนก ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม เป็นต้น กติกาการประกวด ก่อนการแข่งขันจะใช้วิธีจับฉลากประกบคู่ว่าวทุกตัว ว่าวที่แพ้จะตกรอบแข่งขันแบบแพ้คัดออกตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ในการแข่งขันว่าวแต่ละคู่ กำหนดผู้เข้าสนามแข่งขันได้ 2 คน (เจ้าของว่าว/ผู้ปล่อยว่าว)
ในระหว่างการแข่งขันกรณีเกิดว่าวตกหรือว่าวขาดให้ปล่อยว่าวใหม่ได้ โดยกรรมการจะจับเวลาดูขันน้ำจมเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสิน ส่วนผู้เข้าแข่งขันต้องมารอที่สนามแข่งขัน ก่อนกำหนด 10 นาที เพื่อเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เมื่อถึงเวลาแข่งขัน กรรมการเรียกชื่อหรือหมายเลขว่าว ให้รีบมาแข่งขันทันที หากเรียกครบ 3 ครั้งแล้วผู้เข้าแข่งขันยังไม่มา ณ จุดแข่งขัน จะถือว่าสละสิทธิ์ทันที และการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สุด ซึ่งว่าวที่ส่งเข้าการประกวด ประเภทสวยงามแล้ว ไม่สามารถส่งเข้าแข่งขันว่าวประเภทขึ้นสูงได้ส่วนเกณฑ์การตัดสิน การแข่งขัน แพ้ - ชนะ 2 ใน 3 จะมีขันน้ำ เป็นเกณฑ์มาตรฐานการแข่งขันว่าวแต่ละคู่ กรรมการจะวัดระดับขันน้ำจมเป็นเวลามาตรฐานทุกสนาม.
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ...เจษฎา สิริโยทัย-ยะลา.