Last updated: 10 ส.ค. 2565 | 379 จำนวนผู้เข้าชม |
วงเสวนาเห็นร่วม สร้าง “พื้นที่ปลอดภัย”ให้เยาวชนในการแสดงออกทางความคิด “ศานนท์” รองผู้ว่าฯกทม.ย้ำกทม.จัดพื้นที่ปลอดภัยคือจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะที่นักวิชาการชี้ การเมืองไม่ใช่แค่เลือกตั้งแต่คือวิถีชีวิต
เมื่อวันก่อน (6 ส.ค.) ที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวงเสวนา เรื่อง “เยาวชน การเมืองและข่าวปลอม” มีวิทยากรจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ,ดร.มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ,น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวสามมิติ และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporter และนายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวการเมือง The Standard
นายศานนท์ กล่าวว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนต้องมองไปที่รากของปัญหาคือ การขาดการมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมามีวัฒนธรรมกดทับหลายเรื่องจนทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมจากเยาวชน เมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยจะเกิดการมีส่วนร่วม เช่น กทม.กำลังจะทำ”ย่านสร้างสรรค์” ชุมชนไหนอยากเปลี่ยนแปลง 10ชุมชนนำร่อง เยาวชนและชุมชนแจ้งมาว่าอยากทำถนนคนเดิน อยากทำกีฬา เราเริ่มเปลี่ยนจากการสั่งการจากกทม.ไปเขตให้ทำตามนโยบายแต่ดูว่าสิ่งที่ต้องการจากชุมชนขึ้นมาคืออะไรแล้วกทม.จะสนับสนุน ให้ชุมชนที่อยากผลักดันชุมชนตัวเอง รากของการสร้างการมีส่วนร่วมขั้นพื้นฐาน
“อย่าไปมองว่าไปม็อบไปโครงสร้างใหญ่มองจากเริ่มใกล้ตัวบ้านตัวเอง กทม.กำลังสนับสนุนสิ่งนี้ เมืองจะดีขึ้นได้ไม่ใช่กทม.ทำ เมืองจะดีต้องให้เยาวชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยไม่มีวัฒนธรรมทางสังคมที่ดี เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือด้านอื่นๆก็จะตามมา”
ดร.มนต์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมมักจะผลักคำว่าการเมืองออกไปไกลตัวของเยาวชน แต่ในความเป็นจริงการเมืองคือกระบวนการตัดสินใจในการมีส่วนร่วมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเมืองคือวิถีชีวิตตั้งแต่บริบทของครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสังคม เช่น การตัดสินใจกินข้าวนอกบ้าน การตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัย การเมือง มีทั้งเรื่องหน้าที่ และสิทธิคือเสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น แต่ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ถูกปลูกฝังให้กับเยาวชนว่าให้รู้แค่หน้าที่ ซึ่งหลายเรื่องอาจไม่สอดคล้องกับสิทธิและหน้าที่หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือการสร้างบรรยากาศให้เกิด Active citizen
“สังคมเรายังไม่สามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้อย่างอิสระ สังคมยังมีการตีกรอบกดทับ สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้คือการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแสดงออกทางความคิดเห็น ขณะที่ส่วนสำคัญสำหรับเยาวชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือ การเปิดใจให้เริ่มจากการฟังและเริ่มตั้งคำถามได้เช่นการแต่งตัวชุดนักศึกษา แต่งกายตามเพศสภาพ การไว้ผมยาว สิ่งเหล้านี้ทำได้หรือไม่อย่างไร”
สำหรับวงเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการส้รางเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม” โดยมีหัวหน้าวิจัยคือ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และดร.นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป โปรดิวเซอร์ และผู้ดำเนินรากยาร Big story ไทยพีบีเอส ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)