Last updated: 25 ส.ค. 2563 | 524 จำนวนผู้เข้าชม |
เปิดเรื่องราวลูกศิษย์ “มีวันนี้เพราะครูให้” มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีชวนลูกศิษย์ทั่วประเทศและสถานศึกษาเสนอชื่อ ‘ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’ ครั้งที่ 4 ครูผู้ใช้ทั้งชีวิตเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา มหาดไทยพร้อมเปิดรับการเสนอชื่อจากทั่วประเทศผ่านกลไกจังหวัด
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่อาคารคุรุสภา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวเปิดตัวการสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 โดยดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รางวัลนี้เป็นพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการคัดเลือก ประเทศละ 1 คน เป็นเวลา 2 ปีครั้ง
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า การคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 มีกำหนดพระราชทานรางวัลในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ระหว่างนี้ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต กำลังคัดเลือกครูผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษา สำหรับประเทศไทยได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของครูคือ การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา โดยเป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาทุกสังกัด ซึ่งรวมถึงครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีประสบการณ์สอนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี และปฏิบัติงานสอนหรืองานด้านการศึกษาอยู่จนถึงวันรับพระราชทานรางวัล
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สำหรับผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อครู แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ศิษย์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ และคณาจารย์ที่เคยเป็นผู้สอนครู เสนอชื่อครูได้ที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด กลุ่มที่ 2 องค์กรภาครัฐและเอกชนมีการคัดเลือกครูระดับประเทศเสนอชื่อครูมาที่คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง จากนั้นจะมีการคัดเลือกและลงพื้นที่เพื่อพิจารณาครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพียง 1 คนของประเทศไทย และเนื่องจากการคัดเลือกมาจากสุดยอดครูของแต่ละจังหวัด มูลนิธิฯ จึงมอบรางวัลครูขวัญศิษย์ ซึ่งมาจากสุดยอดครูของจังหวัด รางวัลครูยิ่งคุณ 17 คน และรางวัลคุณากร 2 คน เพื่อให้สังคมร่วมกันเห็นคุณค่าและเชิดชูครูผู้ทุ่มเทเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ตลอดทั้งชีวิตของความเป็นครู
“โจทย์ท้าทายการทำงานของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุค New Normal ที่กำลังเกิดขึ้น คือการเผชิญกับดิจิตัลดีรัปชั่น ที่โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้น ครูต้องปรับตัวเร็วเช่นการสอนออนไลน์ การสอนที่ถูกกำหนดด้วย social distancing การช่วยเด็กที่ครอบครัวช่วยไม่ได้ บังคับให้ครูต้องปรับให้ทันกับเทคโนโลยีและเหตุการณ์ เหตุการณ์โควิดจะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น คนถูกบีบให้ต้องกักตัว ดิจิตอลเทคโนโลยีจึงเข้ามาทดแทน รวมถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อมูลเบื้องต้นของ กสศ. พบว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพื่อจัดสรรทุนเสมอภาคถึง 1.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 17.5% สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน บทบาทของครูจึงมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน เพื่ออุดช่องว่างของการไม่ได้เรียนหนังสือเต็มที่ตามปรกติ ความยากจนที่เพิ่มของครอบครัว เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้สร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างครูไทยและครูในอาเซียน-ติมอร์เลสเต ผ่านเวทีวิชาการนานาชาติ การประชุมแลกเปลี่ยนการทำงานผ่านระบบออนไลน์ถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ การส่งเสริมศักยภาพครูให้มีความฉลาดรู้ดิจิตัล (Digital literacy) การถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานของสุดยอดครู การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูให้กับครูรุ่นใหม่ รวมถึงการต่อยอดการทำงานของครูผู้ทุ่มเทในกลุ่มเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาส เพราะมากกว่าการคัดเลือกครูคือการสร้างพลังเครือข่ายการทำงานของครูในอาเซียนและติมอร์เลสเต ที่ส่งผลถึงลูกศิษย์ เพื่อนครู โรงเรียน และคุณภาพการศึกษา” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว
นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กลไกของคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ซึ่งมาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ มีส่วนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อร่วมกันค้นหาครูที่มีจิตวิญญาณในการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาในทุกจังหวัด จึงขอเชิญชวนร่วมกันส่งรายชื่อครูมาที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อได้ โดยส่งเรื่องราวของครูมาที่ www.PMCA.or.th โดยระบบจะส่งข้อมูลเพื่อแจ้งเบาะแสครูที่ดีให้กับคณะกรรมการจัดหวัดในการค้นหาครูต่อไป
นายจักรวาร เสาธงยุติธรรม นักดนตรี โปรดิวเซอร์ดนตรี นักเรียบเรียงเพลง กล่าวถึงครูผู้เปลี่ยนชีวิตว่า สิ่งที่ได้รับจากครูคือโอกาสซึ่งสำคัญมากกว่าวิชาความรู้ ในช่วง ม. 1 เรียนอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ วิชาเอกไวโอลิน แต่ก็ต้องทำงานเป็นนักดนตรีและต้องซ้อมเปียโน แกะตัวโน๊ตเพื่อเล่นดนตรีตอนกลางคืน ซึ่งทางวิทยาลัยมีกฎห้ามจับเครื่องดนตรีอื่นนอกจากไวโอลิน วิชาเอกที่เลือกเรียน ครูสุทินก็รู้ว่าตนแอบเล่นเปียโนบ่อยๆ แต่ยอมปล่อยให้เล่นต่อ เพราะรู้ว่าต้องใช้ไปประกอบอาชีพ ทั้งที่รู้ว่าผิดกฏแต่ก็ให้โอกาสและครูสอนให้รู้จักอดทน เพราะรู้ว่าชีวิตจริงของการเรียนไม่ได้มีแค่ในห้องเรียนแต่มาจากประสบการณ์ข้างนอก ครูจึงเป็นคนเปิดโอกาสและสอนให้รู้จักใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีครูเอกเปียโนที่มอบกุญแจห้องพักครูให้ได้ซ้อมเปียโนตอนดึกหรือวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเห็นว่าไม่มีเครื่องดนตรีให้ซ้อม ซึ่งความรู้ทางดนตรีแม้จะได้ประสบการณ์จากข้างนอก แต่สิ่งที่ได้จากครูคือวิชาชีวิต ผ่านการพูดคุยนอกห้องเรียนที่แฝงด้วยคำสอน และครูกัลยา ครูสอนภาษาไทย นาฏศิลป์ และครูฝ่ายปกครองที่ทุกคนต่างเกรงกลัวถึงความเข้มงวด แต่ตนเป็นคนเดียวที่ไม่รู้สึกกลัว เพราะท่านไม่เคยดุและพูดเพราะอยู่เสมอ ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากครู จึงสอนให้ทุกเหตุการณ์และทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตสามารถเป็นครูที่จะสอนให้เราพัฒนาขึ้นได้เสมอ
นายเกวลัง ธัญญเจริญ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อดีตนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา แผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรม จบการศึกษาในทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนต้องคดียาเสพติดทำให้ได้รู้จักกับครูเกษมสุข ชัยชิตาทร ครูผู้บุกเบิกแผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรมในทัณฑสถานวัยหนุ่ม สิ่งที่ประทับใจคือความทุ่มเทในการสอนเพราะการสอนวิชาช่างในเรือนจำสามารถสอนแค่ทฤษฎีก็ได้ แต่ครูยอมแบกเครื่องจักรน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัมมาด้วยตนเอง เพราะอยากให้ลูกศิษย์ได้ลงมือทำจริง รวมถึงประสานผู้ที่มีความรู้จากภายนอกมาช่วยถ่ายทอดวิชา และเป็นครูที่ใส่ใจแม้แต่จุดเล็กๆ สำหรับคนที่ไม่มีโอกาส โดยพารุ่นพี่ที่จบแล้วมีงานทำมาแลกเปลี่ยนกับรุ่นน้องให้ใส่ใจในการเรียน สอนวิชาชีพที่หลากหลายเช่น สอนทำอาหาร รวมถึงเล่าเรื่องราวจากโลกภายนอกว่าไปถึงไหนซึ่งเป็นเหมือนการให้ภูมิคุ้มกันว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร แม้แต่ค่าเทอมที่ต้องจ่าย บางคนญาติยังไม่มาเยี่ยม ครูก็เป็นคนโทรประสานและหาชุดนักศึกษามาให้ใส่เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียน ครูจึงไม่ได้ดูแลแค่หน้าที่การสอน แต่เป็นครูผู้ให้โอกาสคน
นายอนุชิต วัฒนาพร อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย กล่าวว่า ตนได้แบบอย่างความเป็นครูจากครูปราณี วิจิตรโชติ ครูขวัญศิษย์ ปี 2558 ผู้ถ่ายทอดความมีวินัย ความเป็นระเบียบ ท่านเข้มงวดโดยใช้คำพูดให้อยู่ในร่องในรอยของการเรียน แต่ไม่เคยเห็นท่านใช้กำลังลงโทษเด็กซึ่งตรงนี้สำคัญมากที่ลูกศิษย์จะกล้าเข้าหาครูอย่างไม่กลัว ท่านดูแลลูกศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม และเมื่อครูปราณี ได้มาเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจของความเป็นครูให้กับครูรุ่นใหม่ก็รู้สึกประทับใจว่านี่คือครูของเรา สิ่งที่ตนได้จากครูปราณีและจะสร้างครูรุ่นต่อไปคือครูต้องมีอุดมการณ์ พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาลูกศิษย์ ใช้ความรักนำและวิธีการจัดการศึกษาค่อยตามมา.